วันที่ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2567 สำนักงานคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) แถลงข่าวเปิดตัว “สถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (Thailand National Cyber Academy : THNCA) ความก้าวหน้าการพัฒนาบุคลากรทุกช่วงวัยและก้าวต่อไป” โดยมี นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานกรรมการกำกับดูแลด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (กกม.) เป็นประธานกล่าวเปิดงานฯ พร้อมด้วย พลอากาศตรี อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ กล่าวรายงานความเป็นมาและวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ณ ห้องประชุมพระศิวะ ชั้น 3 โรงแรมอัศวิน แกรนด์ คอนเวนชัน และถ่ายทอดสดผ่านช่องทางออนไลน์ โดยงานนี้ เป็นส่วนหนึ่งของโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Intensive Cybersecurity Capacity Building Program) ระยะที่ 2 ของ สกมช. ซึ่งมีการจัดอบรมหลักสูตรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ระดับพื้นฐาน ระดับเชี่ยวชาญ และระดับผู้บริหาร รวมถึงจัดอบรมหลักสูตรเฉพาะทางด้านที่สำคัญ เพื่อพัฒนาบุคลากรของหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชนในกลุ่มที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ (Critical Information Infrastructure) ให้มีความชำนาญด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ และพร้อมรับมือกับภัยคุกคามไซเบอร์ที่มาพร้อมกับยุคดิจิทัลที่เทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว


ในปีที่ผ่านมา สกมช. ได้ดำเนินโครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 1 รวมไปถึงการจัดฝึกอบรมต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ให้กับเด็ก เยาวชน คนทำงาน ผู้สูงอายุ และคนพิการ โดยมียอดผู้เข้าร่วมกิจกรรมผ่านทุกแพลตฟอร์มกว่า 1 ล้านคน จำนวนชั่วโมงการอบรมมากกว่า 2,000,000 ชั่วโมง จากจำนวนนี้จะเห็นการเติบโตแบบก้าวกระโดดในการเข้าถึงองค์ความรู้ด้าน Cybersecurity เริ่มจากภาคการศึกษา สกมช. ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อย่างเช่น ความร่วมมือกับเครือโรงเรียนสารสาสน์ ซึ่งมีจำนวนมากกว่า 70,000 คน จากจำนวน 50 สถาบันการศึกษาที่กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาค เพื่อพัฒนาศักยภาพครูผู้สอนด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ (Train the Trainer) ความร่วมมือกับ 14 มหาวิทยาลัย พัฒนาหลักสูตรด้านไซเบอร์เพื่อต่อยอดองค์ความรู้ให้กับนิสิต ความร่วมมือกับกองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.) และ AIS ขยายผลหลักสูตรอุ่นใจไซเบอร์ สำหรับในส่วนผู้ปฏิบัติงาน สกมช. มุ่งยกระดับทักษะบุคลากรผู้ปฏิบัติงานด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ผ่านการอบรมและการจัดกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ การอบรม Cyber Clinic มีผู้เข้าร่วมกว่า 4,000 คน โครงการพัฒนาขีดความสามารถ Lead Implementer, Lead Auditor โครงการการอบรมเชิงปฏิบัติการพัฒนาขีดความสามารถผู้ปฏิบัติงานตามมาตรฐานสากล จัดขึ้น 9 จังหวัดทั่วไทย มีผู้สมัครเข้าร่วมโครงการกว่า 3,000 คน จากทั่วประเทศ โครงการเร่งรัดการพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ ระยะที่ 1 มีผู้เข้าร่วมอบรมกว่า 5,500 คน และความร่วมมือกับ ASEAN-Japan Cybersecurity Capacity Building Centre: AJCCBC) ดำเนินการจัดอบรมหลักสูตรพัฒนาบุคลากรด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ให้แก่ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ โดยได้ดำเนินการจัดอบรมและผู้เข้าร่วมกว่า 2,500 คน อีกกลุ่มที่ สกมช. ให้ความสำคัญไม่แพ้กันคือประชาชนทั่วไปและกลุ่มเปราะบาง สกมช. จัดอบรม NCSA Cybersecurity Knowledge Sharing มีผู้เข้าร่วมแล้วกว่า 109,188 คน และการแข่งขัน “Thailand Cyber Top Talent” และ “Woman Thailand Cyber Top Talent” ที่มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยผลิตบุคลากรทางไซเบอร์ และร่วมกับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ เสริมสร้างทักษะทางวิชาชีพกับคนพิการให้อยู่ในสังคมได้อย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ยังมีความร่วมมือจากพันธมิตรหลายฝ่าย อาทิ Unicef กองบัญชาการตำรวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยีมูลนิธิิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย เป็นต้น
ซึ่ง สถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์กลางในการพัฒนาความรู้และทักษะด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของบุคลากรในทุกช่วงวัย ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา ผู้ปฏิบัติงาน ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญและผู้บริหาร รวมถึงประชาชนทั่วไป โดยมุ่งเน้นการสร้างมาตรฐานและความเข้มแข็งในด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ของประเทศ การจัดตั้งสถาบันวิชาการความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติครั้งนี้ จะสร้างบทบาทสำคัญการเตรียมความพร้อมขีดความสามารถและความรู้ความเข้าใจของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศของหน่วยงานต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาขีดความสามารถและความรู้ความเข้าใจของบุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยระบบสารสนเทศของหน่วยงานต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มที่เป็นหน่วยงานโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ Critical Information Infrastructure หรือ หน่วยงาน CII ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน รวมถึงเพื่อพัฒนาศักยภาพบุคลากรให้สามารถเข้าทดสอบประกาศนียบัตรอันเป็นที่ยอมรับในระดับสากล ในหลักสูตรต่าง ๆ รวมทั้งหลักสูตรเชี่ยวชาญเฉพาะด้านอันจะช่วยเร่งให้การพัฒนาผู้เชี่ยวชาญและกำลังคนด้านความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์ทั้งในภาครัฐและภาคเอกชนเพิ่มขึ้น


